ผลวิจัยพบ 'พลาสติกขนาดเล็ก (plastic particle)' ปนเปื้อนในน้ำดื่มบรรจุขวดหลายยี่ห้อที่วางจำหน่ายใน 9 ประเทศ รวมถึงที่ไทยด้วย ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบางประเภท ปัญหาจำนวนตัวอสุจิน้อยในเพศชาย รวมถึงโรคอื่นๆ เช่น สมาธิสั้นและออทิสติก เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 โดยทีมนักวิจัยจากองค์กรสื่อไม่แสวงผลกำไร Orb Media นำโดย เชอร์รี เมสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านไมโครพลาสติกจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์กที่ฟรีโดเนีย ซึ่งสำรวจพบ การปนเปื้อนในวงกว้างของอนุภาคพลาสติกในน้ำดื่มบรรจุขวด
ทั้งนี้ นักวิจัยกลุ่มนี้ได้ทำการสุ่มตัวอย่างน้ำดื่ม 250 ขวดใน 9 ประเทศ ได้แก่ บราซิล, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เคนยา, เลบานอน, เม็กซิโก, ไทย และสหรัฐอเมริกา โดยพบอนุภาคพลาสติกปนเปื้อนจากกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 93 ในจำนวนนี้รวมถึงน้ำดื่มยี่ห้อดังอย่าง Aqua, Aquafina, Evian, Nestle Pure Life, Bisleri, Epura, Gerolsteiner, Minalba, Wahaha และ San Pellegrino ซึ่งอนุภาคพลาสติกที่พบมีทั้งพอลีโพรพิลีน, ไนลอน และพอลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ซึ่งใช้ในการผลิตฝาขวด ซึ่งระดับความหนาแน่นของอนุภาคพลาสติกมีตั้งแต่ 'ศูนย์เรื่อยไปจนเกินกว่า 10,000 อนุภาคต่อน้ำ 1 ขวด' รายงานระบุ
อนึ่ง ไมโครพลาสติกหมายถึงอนุภาคพลาสติกที่มีขนาด 100 ไมครอน (0.10 มิลลิเมตร) มีการตรวจพบโดยเฉลี่ย 10.4 อนุภาคต่อน้ำ 1 ลิตร ส่วนอนุภาคที่มีขนาดเล็กลงไปอีกจะพบเฉลี่ยสูงถึง 325 อนุภาคต่อน้ำ 1 ลิตร อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่า #ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าอนุภาคพลาสติกเหล่านี้ก่อความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด โดยทราบเพียงว่ามันเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งบางประเภท ปัญหาจำนวนตัวอสุจิน้อยในเพศชาย รวมถึงโรคอื่นๆ เช่น สมาธิสั้น (ADHD) และออทิสติก
เกี่ยวกับเรื่องนี้ แจ็คเกอลีน ซาวิตซ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายของกลุ่มอนุรักษ์ทางทะเลโอเชียนา (Oceana) ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า นี่คือหลักฐานยืนยันว่าสังคมควรหยุดใช้ขวดพลาสติกกันอย่างแพร่หลาย